กลเม็ดเด็ดพิชิตเด็กทานยาก ภาคต้น

เด็กบ้านไหนทานข้าวยาก? เด็กบ้านไหนชอบเล่นเวลาทานข้าว? เด็กบ้านไหนมักวุ่นวายมากเวลาทานข้าว? เด็กบ้านไหนเวลาให้ทานข้าวกลับไม่ทาน? เด็กบ้านไหนพอถึงเวลาทานข้าวพ่อแม่ต้องเครียดตลอด? เด็กบ้านไหนมักชอบปฏิเสธอาหาร? เด็กบ้านไหนทานแต่ของซ้ำๆ? วันนี้มีกลเม็ดเด็ดๆ ดีๆ มาช่วยแล้วค่ะ ต้องขอบอกก่อนนะคะว่าบทความนี้เกิดจากประสบการณ์ของตัวเอง เนื่องจากลูกชายเป็นเด็กทานค่อนข้างยาก แถมติดเล่นอีกต่างหาก เลยต้องศึกษาข้อมูลจากหนังสือและงานวิจัยต่างๆ เพื่อมาจัดการซึ่งก็ได้ผลจริงๆ งั้นจะรอช้าทำไมเราไปอ่านเพื่อนำไปจัดการเจ้าตัวเล็กหรือเด็กๆ ที่บ้านที่ทานข้าวยากกันเถอะค่ะ 🙂

?พ่อแม่หลายๆ คนพบว่าเวลาทานอาหารเป็นเรื่องยากมากสำหรับเด็กวัยหัดเดิน (คือเด็กช่วงอายุ 1-3 ปี) ผู้ซึ่งมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก แม้ว่าการทานอาหารยากของเด็กๆ จะสร้างความเครียด ความผิดหวัง ความลำบากใจหรือทำให้เกิดความขัดข้องใจแก่พ่อแม่ก็ตาม แต่ขอให้เชื่อเถอะว่าการทานอาหารยากของเด็กถือเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของเด็ก (เด็กคนไหนไม่เป็นถือว่าแปลกมากๆ ค่ะ เพราะเด็กทุกคนต้องเติบโตไปตามวัยของเค้า) ซึ่งมันจะดีขึ้นเมื่อถึงเวลาของเด็กแต่ละคน ซึ่งบางคนอาจช้าแต่บางคนอาจเร็วแตกต่างกันไป (เริ่มยิ้มออกแล้วใช่ไหมคะว่ามันเป็นเรื่องปกติแถมมันยังเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเด็กอีกต่างหาก)
ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรกังวลใจเกี่ยวกับการทานอาหารของเด็ก เพราะถ้าพ่อแม่สามารถควบคุมอารมณ์และมีทัศนคติที่ดีต่อมันได้ มันจะส่งผลดีทั้งต่อตัวพ่อแม่และเด็กด้วย (พ่อแม่บ้านไหนไม่เคยเครียดเรื่องนี้ขอปรบมือ ? และยกนิ้ว ?ให้เลยค่ะ)

แม้ว่าเด็กจะปฏิเสธอาหารในช่วงเวลาที่ต้องทานอาหารก็ตาม แต่เชื่อเถอะ!!! เด็กส่วนใหญ่จะทานอาหารอย่างเพียงพอสำหรับตัวเค้าเองแน่นอน จำไว้ ท้องหรือกระเพาะของเด็กมันเล็กมาก ดังนั้นเด็กจะไม่สามารถทานอาหารได้เยอะมากภายในครั้งเดียว ถ้าเด็กไม่ต้องการทานอาหาร ได้โปรด…อย่าพยายามบังคับเด็กให้ทานเด็ดขาด อย่าพยายามหลอกล่อให้เด็กทานเด็ดขาด หรือแอบพยายามเอาอาหารเข้าปากเด็ก (ประมาณเด็กเผลอปุ๊บแล้วรีบป้อนอาหารเข้าปากเด็กทันที ห้ามทำ!) อย่าพยายามต่อรองให้เด็กทานข้าวด้วยวิธีการต่างๆ (มาถึงตอนนี้พ่อแม่บ้านไหนเคยทำบ้างค่ะ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรที่ทำให้เด็กต่อต้านและไม่อยากทานข้าว ดังนั้นจงหยุดทำให้เร็วที่สุดค่ะ)
จุดเน้น: พ่อแม่อย่าวิตกกังวลหรือกลุ้มใจมากจนเกินไปถึงสิ่งที่เด็กทานในแต่ละมื้อหรือในแต่ละวัน แต่ให้มองในภาพรวมของการทานอาหารต่อสัปดาห์ว่าเด็กได้ทานอะไรไปบ้าง (หากพอมีเวลาแนะนำว่าให้จดบันทึกว่าใน 1 สัปดาห์เด็กทานอะไรบ้าง วิธีนี้ทำให้เห็นชัดเลยว่าเด็กทานน้อยในบางวัน/บางมื้อ แต่บางวัน/บางมื้อจะทานเยอะมาก พอมาเฉลี่ยในภาพรวมจะเห็นเลยว่าใน 1 สัปดาห์ เด็กทานได้ปกติจริงๆ ค่ะ)

จากการวิจัยพบว่าเด็กวัยหัดเดินส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระยะของการเลือกทานอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น พฤติกรรมนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่ปกติของเด็ก ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “อาการกลัวอาหาร (food neophobia)” หรืออาการกลัวอาหารใหม่ๆ เด็กจะประสบปัญหา/อาการแบบนี้ในช่วงอายุใกล้ๆ จะ 2 ขวบ แต่ช่วงเวลาระยะนี้มันจะผ่านไปเอง…ชัวร์!!! (พ่อแม่ไม่ต้องเครียดหรือวิตกกังวลไปค่ะ)
เด็กส่วนใหญ่จะชอบทานอาหารที่ตัวเองรู้จักหรือคุ้นเคย จึงไม่แปลกที่เด็กถึงต้องการเวลาในการเรียนรู้อาหารที่เค้าไม่คุ้นเคยจนกว่าเด็กจะรู้สึกปลอดภัยและรู้สึกสนุกในการทานอาหารเหล่านั้น #ดังนั้นเด็กจะมีความมั่นใจในอาหารที่เค้าไม่คุ้นเคยได้จากการดูพ่อแม่และคนรอบข้างมีความสุขและสนุกกับการทานอาหารนั้นให้เห็นเป็นตัวอย่าง ที่สำคัญหากเด็กได้ออกกำลังกายอย่างมากพอ การวิ่งและการเล่นที่ใช้พลังงานจะช่วยให้เด็กมีความอยากทานอาหารมากขึ้น (อันนี้รับประกันว่าช่วยได้เยอะจริงๆ ค่ะ)
นอกจากนั้นยังมี 6 แนวทางที่ช่วยให้ช่วงเวลาทานอาหารของเด็กเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้นมาให้ด้วยค่ะ:

ทานพร้อมกันทั้งครอบครัว (ถ้าเป็นไปได้)
ทานข้าวพร้อมกันกับเด็กให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิธีการนี้อาจจะยากถ้าทั้งพ่อและแม่ทำงานทั้งคู่ แต่พ่อแม่ควรพยายามทานพร้อมเด็กทุกครั้งเมื่อมีเวลาและโอกาส (อันนี้เวิร์คมากและได้ผลจริง เพราะลองกับตัวเองแล้วพบว่า ถ้าทานพร้อมกันทั้งบ้าน ลูกจะเจริญอาหารมากๆ แถมจะตักอาหารทานเองจนหมด แม่แทบไม่ต้องช่วยป้อนเลยค่ะ)
จุดเน้น: เวลาทานอาหารร่วมกันให้ทานอาหารแบบเดียวกันกับเด็ก เพราะเด็กจะเรียนรู้การทานอาหารใหม่ๆ จากการดูและทำตามพ่อแม่หรือเด็กคนอื่นๆ รอบตัว เด็กมีแนวโน้มที่จะทานตามหรือเข้ามามีส่วนร่วมในอาหารนั้นๆ หากมีการจัดวางจานอาหารไว้ตรงกลางโต๊ะที่เด็กสามารถตักทานร่วมกันกับผู้ใหญ่ได้ ดังนั้นอย่าปรุงรสด้วยเกลือหรือน้ำตาลมากจนเกินไปในจานอาหารนั้นๆ (ว่างๆ จะเขียนเรื่องโทษของการใช้น้ำตาลในเด็กให้นะคะ)

คิดเชิงบวก
เนื่องจากพ่อแม่จะต้นแบบของเด็ก ดังนั้นให้บอกหรือแสดงออกให้เด็กเห็นถึงความสุขและความสนุกในขณะที่กำลังทานอาหาร ยิ่งพ่อแม่มีความกระตือรือล้นในการทานอาหารมากเท่าไหร่ เด็กจะยิ่งมีความเต็มใจในการทานอาหารมากยิ่งขึ้นด้วย ยกตัวอย่างแม้พ่อแม่อาจจะไม่ชอบทานผักหรือไม่เป็นแฟนพันธุ์แท้บล๊อคโคลี่ กะหล่ำปลี หรือผักใบเขียวต่างๆ แต่พ่อแม่สามารถแสดงหน้าตาว่ามีความสุขในการทานผักเหล่านี้ให้เด็กดูเป็นตัวอย่างและทำตามได้ (งานแสดงละครต้องมาด่วน ได้ผลจริงๆ ค่ะ)
เมื่อเด็กทานอาหารได้เป็นอย่างดี พ่อแม่ควรแสดงให้เด็กรับรู้ถึงความสุขและความดีใจของพ่อแม่ เพราะเด็กจะมีความสุขเมื่อได้รับคำชมเชย (ง่ายๆ คือเด็กมักบ้ายอนั่นเองค่ะ) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เด็กทานดีไปอย่างต่อเนื่องได้ แต่ถ้าพ่อแม่ให้แต่ความสนใจเฉพาะเวลาที่เด็กทานยากเท่านั้น เด็กอาจจะเริ่มปฏิเสธอาหารเพื่อตอบโต้การกระทำดังกล่าวกับพ่อแม่ 
จุดเน้น: ถ้าเด็กไม่สามารถทานอาหารเสร็จภายใน 30 นาที ให้เก็บอาหารทั้งหมดทันทีโดยไม่ต้องกล่าวโทษเด็กใดๆ ทั้งสิ้น แต่ให้พ่อแม่ทำใจยอมรับว่าเด็กได้รับอาหารอย่างเพียงพอแล้ว และให้เดินหน้าสำหรับมื้อต่อไป

ทำช่วงเวลาทานอาหารให้สบายและมีความสนุก 
จัดให้ลูกได้มีโอกาสทานอาหารร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะเท่าได้ เพราะเด็กจะทานอาหารได้ดีขึ้นเมื่อเค้าเห็นเด็กคนอื่นในวัยใกล้เคียงกันมีความสุขในการทานอาหาร (อันนี้จริงที่สุด เพราะเคยลองให้ธรรมะทานข้าวกับลูกคนงานที่บ้าน สรุปทานเยอะมากจนแม่งง แถมแม่ไม่ต้องชวนคุยเลยด้วยซ้ำ)
จุดเน้น: เวลาทานข้าวไม่ควรให้เด็ก ดูทีวี เล่นเกมหรือ เล่นของเล่นเด็ดขาดเพราะสิ่งเหล่านี้จะยิ่งรบกวนสมาธิเด็กต่อการทานข้าวมากขึ้นไปอีก แต่ควรทำช่วงเวลาทานข้าวให้มีความสุขโดยการพูดคุยถึงสิ่งต่างๆ โดยพยายามคุยเรื่องต่างๆ ในระดับที่เด็กเข้าใจและเด็กสามารถเข้ามาร่วมพูดคุยกับพ่อแม่ได้
จัด finger foods (อาหารที่ใช้มือหยิบจับทานเองได้) แก่เด็กและปล่อยให้เด็กได้สัมผัสและเล่นกับอาหารของเค้าตามที่เด็กต้องการ เด็กจะได้เรียนรู้ถึงเนื้อสัมผัสและความรู้สึกที่แตกต่างกันของอาหาร แม้ว่าการหยิบจับนี้มันจะสร้างความเลอะเทอะอย่างมากๆ ก็ต้องปล่อย เพราะเด็กจะสนุกกับการได้ควบคุมการทานข้าวด้วยตนเอง ซึ่งมันจะกลายเป็นความรับผิดชอบของตัวเด็กเองเมื่อเด็กโตขึ้นด้วย!

ทำช่วงเวลาทานข้าวให้มีความสม่ำเสมอ 
ทำให้ช่วงเวลาทานข้าวในแต่ละวันเป็นกิจวัตรประจำวันและเหมาะสมกับรูปแบบเวลานอนกลางวันของเด็ก โดยใน 1 วัน ควรจัดอาหาร 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 มื้อ เพราะเด็กจะสนุกและคุ้นเคยกับกิจวัตรประจำวัน รวมทั้งรู้หน้าที่ของตัวเองว่าต้องทำอะไร แต่ถ้าเด็กเหนื่อยล้ามากๆ เด็กมักจะเบื่ออาหารและปฏิเสธการทานอาหาร ดังนั้นพ่อแม่ควรจัดอาหารว่างเล็กๆ หรือเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ให้เด็กก่อนที่จะงีบหลับในช่วงสั้นๆ ก่อนถึงเวลาอาหารหลัก เพื่อให้เด็กสามารถทานอาหารหลักได้ในมื้อถัดไป
จุดเน้น: ช่วงเวลาในการจัดมื้ออาหารในแต่ละมื้อให้ทำแบบเป็นกิจวัตรประจำวันในแต่ละวัน เพราะเด็กจะคุ้นเคยกับกิจวัตรที่ตัวเองทำในแต่ละวันเป็นอย่างดี ควรจัดช่วงเวลาทานอาหารให้ชัดเจนและตรงกันในแต่ละวัน เช่น อาหารเช้า 8.30 น. อาหารกลางวัน 12.30 น. อาหารเย็น 18.30 น. เป็นต้น

สร้างความสนใจให้แก่เด็ก
เวลาอาหารกลางวันและเย็นให้จัดอาหารที่ดึงดูดและสร้างความสนใจแก่เด็ก และตามด้วยของหวานที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้ เป็นต้น และเมื่อจบอาหารมื้อนี้แล้ว ในมื้อถัดไปให้เปลี่ยนรสชาดอาหารเพราะเด็กอาจจะเบื่อรสชาดเดิมนั้นแล้ว
การจัดให้มี 2 เมนูในแต่ละมื้อจะเปิดโอกาสให้เด็กมี 2 ทางเลือกในการได้รับพลังงานและสารอาหารตามที่เด็กต้องการมากขึ้น อีกทั้งจะทำให้เด็กมีประสบการณ์ด้านอาหารที่หลากหลายมากขึ้นในแต่ละมื้อด้วย (ส่วนตัวใช้วิธีนี้บ่อยมากแล้วได้ผลสุดๆ แต่จะเหนื่อยหน่อยในการทำกับข้าวค่ะ)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพ่อแม่จะเตรียมอาหารที่มีรสชาดอร่อย น่าสนใจ และดึงดูดความสนใจเด็กได้ดีก็ตาม แต่เด็กจะทานน้อยลง เมื่อมีการติดสินบนหรือให้สัญญาว่าจะให้เด็กทานขนมหวาน เพราะเด็กจะทานน้อยเพื่อเก็บท้องรอขนมหวาน ดังนั้นห้ามติดสินบนเด็ดขาด!! ที่สำคัญเด็กวัยนี้ชอบลองใจแม่ด้วยค่ะ
จุดเน้น: เวลาจัดอาหารให้เด็กให้จัดในสัดส่วนเล็กๆ เพราะหากจัดอาหารใส่จานปริมาณเยอะมาก ในความรู้สึกของเด็กมันจะมากขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว ซึ่งมันจะลดความรู้สึกอยากในการทานอาหารของเด็กให้น้อยลงไป จนทำให้เด็กไม่อยากทานอาหารนั้นๆ เลย แต่หากเด็กทานอาหารหมดในสัดส่วนเล็กๆ นั้นให้ชมเชยเด็กและเสนอให้เด็กทานเพิ่มได้ และเพื่อสร้างความพิเศษและหลากหลาย พ่อแม่สามารถจัดให้มีการทานอาหารนอกบ้านในวันที่อากาศดีๆ เช่น จัดปิคนิคให้ทานอาหารนอกบ้าน หรือเปลี่ยนบรรยากาศมาทานข้าวเช้าที่สวนหน้าบ้าน ซึ่งช่วยให้เด็กเจริญอาหารมากขึ้นจริงๆ อีกทั้งทำให้สนุกกันทั้งครอบครัว และไม่ต้องเสียเวลาในการเก็บล้างทำความสะอาดเป็นจำนวนมากอีกด้วย หรือถ้าพาเด็กไปทานข้าวนอกบ้านที่ร้านอาหาร ให้เตรียมอาหารว่างที่มีประโยชน์ที่เด็กชอบติดไปด้วย เผื่อในกรณีที่เด็กไม่ต้องการทานอาหารที่ร้านอาหารนั้นๆ

ให้เด็กมีส่วนร่วม 
หากเด็กโตพอสมควรแล้ว สามารถให้เด็กไปช่วยจ่ายตลาดด้วย โดยการให้เด็กช่วยหาของที่ต้องการซื้อในซุปเปอร์มาร์เก็ต (เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ไปในตัวด้วยค่ะ) หรือให้เด็กช่วยจัดเตรียมโต๊ะอาหารก่อนรับประทานอาหาร กิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ นี้จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กมีนิสัยและความรู้สึกที่ดีและส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกที่มีต่อการกินข้าว การให้เด็กช่วยทำอาหารง่ายๆ หรือช่วยเตรียมอาหารจะทำให้เด็กได้เปิดประสบการณ์ใหม่ซึ่งจะทำให้เด็กทานอาหารได้มากขึ้นค่ะ
เรื่องทานข้าวเด็กมันเป็นมหากาพย์ค่ะ ดังนั้นมันยังไม่จบง่ายๆ ยังมีภาค 2 ต่ออีกนะคะว่า อะไรเป็นสัญญาณที่แสดงว่าเด็กอิ่ม อะไรที่ห้ามทำเด็ดขาดในช่วงเวลาทานอาหารของเด็กที่มันจะทำให้เด็กทานยากมากขึ้นไปอีก! โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ.

ขอบพระคุณบทความดีๆ: Kid Cafe by Mommy Ten and Baby Dhamma

ใส่ความเห็น

Your email address will not be published. Required fields are marked *

clear formPost comment